GC Group

GC ร่วมกับ ประชารัฐรักสามัคคีอุดหนุนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดระยอง

GC ร่วมกับ ประชารัฐรักสามัคคีระยอง อุดหนุนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดระยอง



“ผลไม้รสล้ำ” คำขึ้นต้นของคำขวัญประจำจังหวัดระยอง แสดงให้เห็นว่าจังหวัดระยองสามารถปลูกผลไม้ได้หลากหลายชนิด มีรสชาติดีถูกใจนักท่องเที่ยว ต้องซื้อติดไม้ติดมือเป็นของฝากทุกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ผลไม้ออกชุกเป็นพิเศษ เช่น มะม่วง ทุเรียน มังคุด รวมถึง สับปะรดทองระยอง ผลไม้ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติที่อร่อย เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งจะมีผลผลิตออกมาพร้อมกัน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดระยอง ประสบปัญหาราคาตกต่ำและผลผลิตล้นตลาด



เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดระยอง GC ร่วมกับ ประชารัฐรักสามัคคีระยอง จึงได้ จัดโครงการ “Pineapple Aloha” เพื่อเป็นการอุดหนุนสับปะรดจากเกษตรกรในระยอง นำไปมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลระยอง ซึ่งเป็นผู้เสียสละทุ่มเทแรงกายแรงใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อสู้กับโควิด 19 เพื่อความปลอดภัยของทุกคนอย่างเต็มที่ตลอดมา โดยได้รับเกียรติจาก นางธัมมิกา เอี่ยมแสง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดระยอง เป็นประธานในการปล่อยขบวนรถบรรทุกสับปะรด “Pineapple Aloha” ปริมาณบรรทุกคันละ 2,000 กิโลกรัม พร้อมด้วยนางสาวเชาวนี พันธุ์พฤกษ์ ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานบริหารกิจการเพื่อสังคม พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และ ประธานกรรมการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยอง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เข้าร่วมงาน ณ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดระยอง



สับปะรดทองระยอง (Rayong Golden Pineapple) หมายถึง สับปะรดสายพันธุ์ควีน (Queen) กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศรับรองให้สับปะรดทองระยอง เป็นผลผลิตที่ผ่านการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จีไอ (GI : Geographical Indication) ลักษณะเฉพาะ ขอบใบที่ต้นและจุกมีหนามสั้นแหลมคม สีชมพูอมแดง รูปผลทรงกระบอก ตาผลใหญ่ ร่องตาตื้น เปลือกบาง เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีทองทั้งผล เนื้อสีเหลืองเข้มสม่ำเสมอตลอดผล เนื้อแน่น แห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติเปรี้ยวหวาน มีกลิ่นหอม รับประทานแล้วไม่กัดลิ้น ปลูกในเขตพื้นที่ของจังหวัดระยอง
สนใจสั่งซื้อเพื่ออุดหนุนเกษตรกร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยงานบริหารกิจการเพื่อสังคม โทร. 087-500-4726,065-395-5449

จิรัฏฐ์นนท์ ฐิตะสิริ ระยอง

GPSC Group ร่วมฝ่าโควิด-19 ระลอกใหม่ สนับสนุนอุปกรณ์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์รับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19



บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ส่งมอบความช่วยเหลือให้กับบุคลากรทางการแพทย์รับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยให้ความช่วยเหลือดังนี้



– บริจาคเงินสมทบทุน จัดซื้อเครื่องไฮโฟลว์สำหรับรับมือผู้ป่วย COVID-19 ให้กับศิริราชมูลนิธิ จำนวน 500,000 บาท
– บริจาคเงินสมทบทุน ช่วยเหลือผู้ป่วย COVID-19 ให้กับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 500,000 บาท

– สนับสนุนเครื่องฟอกอากาศ และเครื่องอบ UV เพื่อป้องกันเชื้อ COVID-19 ให้กับศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ มูลค่า 100,000 บาท

– สนับสนุนเสื้อกาวน์ป้องกันการติดเชื้อ (PE Gown) จำนวน 6,000 ตัว ให้กับกระทรวงสาธารณสุข มูลค่า 90,000 บาท

– สนับสนุนเสื้อกาวน์ป้องกันการติดเชื้อ (PE Gown) จำนวน 3,750 ชุด ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง มูลค่า 56,560 บาท

– สนับสนุนเสื้อกาวน์ป้องกันการติดเชื้อ (PE Gown) จำนวน 2,250 ตัว ให้กับโรงพยาบาลบางละมุง มูลค่า 33,750 บาท



งบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,280,310 บาท GPSC Group พร้อมสู้เคียงข้างคนไทย และให้ความช่วยเหลือ แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนคนไทยได้อย่างปลอดภัย..

จิรัฏฐ์นนท์ ฐิตะสิริ ระยอง

กลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองสนับสนุนมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในพื้นที่

กลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองสนับสนุนมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการใช้งานและเป็นที่ต้องการเร่งด่วนสำหรับบุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดระยอง จากการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อ Covid-19 ทั้งในพื้นที่

วันที่ 27 เมษายน 2564 กลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองนำโดย ดร. วิสุทธิ์ หนูงาม  ประธานอนุกรรมการชุมชนสัมพันธ์และสื่อความกลุ่ม ปตท. ประกอบไปด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน),บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) , บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์

จำนวน 3 รายการ ได้แก่ 1. ชุด กาวน์ 2. ถุงมือยาง และ 3. หมวกคลุมผม  รวมจำนวน  12,250 ชิ้น มูลค่า 121,250 บาท ให้แก่ นาย ชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เพื่อสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการใช้งานและเป็นที่ต้องการเร่งด่วนสำหรับบุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดระยอง จากการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อ Covid-19 ทั้งในพื้นที่ทั่วประเทศ และในจังหวัดระยอง

จิรัฏฐ์นนท์ ฐิตะสิริ ระยอง

 

ศูนย์บริหารและจัดการขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า ต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรแห่งแรกของจังหวัดระยอง



 

นิยามของคำว่า “ชุมชน” นั้น อาจสื่อได้ถึง ความร่วมแรงร่วมใจ ความสมานฉันท์ ที่ผู้อยู่อาศัยร่วมกันในชุมชนนั้น ได้ช่วยกันบริหารจัดการ เพื่อให้ชุมชนนั้น ๆ เป็นชุมชนที่น่าอยู่ ชุมชนที่เราจะพาทุกคนเดินทางไปค้นหาความหมายเพิ่มเติมกันในวันนี้ เป็นชุมชนเล็ก ๆ ในประเทศของเราแต่ยิ่งใหญ่ หรือเรียกว่าเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการขยะแห่งแรกของจังหวัดระยองก็ว่าได้ ชุมชนนี้ คือ “ชุมชนวัดชากลูกหญ้า” แล้วอะไรที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้พร้อมใจกันหันมาสนใจเรื่องนี้และเริ่มต้นบริหารจัดการขยะ เราไปค้นหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลย



 “ชุมชนวัดชากลูกหญ้า” ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ชุมชนนี้เป็นชุมชนกึ่งเมือง มีปริมาณขยะมูลฝอย ถึงประมาณ 8.2 ตันต่อวัน พี่เปิ้ล นภาพัฒน์ อู่เจริญ ประธานวิสาหกิจชุมชนธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า เล่าให้เราฟังว่า “จุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการขยะภายในชุมชนเกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อน ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในชุมชนมาช่วยกันคิดว่า จะนำขยะที่มีอยู่มาทำอะไรให้เป็นประโยชน์ได้บ้าง ทางเทศบาลจึงได้ส่งชาวบ้านให้ไปศึกษาดูงานหลายๆ ที่ กลับมาจึงได้แนวคิดและตกผลึกออกมาเป็น โครงการธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล โดยคณะกรรมการมีกติกาว่า ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกของโครงการ จะต้องนำขยะมาฝากตามที่กำหนด เพื่อรักษาความเป็นสมาชิกไว้ ส่วนเงินที่ได้จากการเอาขยะมาฝากไว้ ทุกคนมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เอาไว้ดูแลเรื่องของฌาปณกิจ และจัดสรรในเรื่องของสวัสดิการ ทุนการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล โดยขยะที่ได้ทำการคัดแยกจากครัวเรือนมาถึงพี่เปิ้ล มีประมาณ 2.5 ตันต่อเดือน นำเข้าโครงการฯ และจัดการจนทำให้ปริมาณขยะลดลงไป”      

หลังจากนั้น เมื่อโครงการธนาคารคัดแยกขยะฯ ดำเนินการมาได้ระยะเวลาหนึ่ง ประกอบกับทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้สร้าง “YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม” ซึ่งเป็นระบบจัดการพลาสติกใช้แล้วแบบครบวงจรขึ้น ตั้งแต่การรวบรวมและคัดแยกขยะ การขนส่งขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบกระบวนการรีไซเคิล และกระบวนการแปรรูปจนได้กลับมาเป็นสินค้าอัพไซคลิง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มอีกครั้งหนึ่ง ตอบสนองการดำเนินชีวิตของผู้คนและส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการรีไซเคิล รวมถึงสร้างระบบการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน GC เล็งเห็นว่าแพลตฟอร์มนี้น่าจะมีประโยชน์กับชุมชนแห่งนี้ จึงได้เข้ามาเป็นพลังเสริม ในการช่วยพัฒนาการบริหารจัดการขยะของชุมชนให้ครบวงจร เช่น การบันทึกข้อมูลขยะขาเข้าจากแหล่งต่างๆ การจัดการด้านบัญชีการเงิน ข้อมูลขยะในคลัง จนถึงการจัดการด้านการขายพลาสติก (ประเภท PET และ HDPE) ให้กับโรงงาน ENVICCO ของ GC ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลระดับ Food Grade มาตรฐานยุโรปแห่งแรกของประเทศไทย ช่วยบริหารจัดการด้านการขนส่ง (Logistics) ด้วยการวางแผนการขนส่งให้มีต้นทุนที่ถูกที่สุดอีกด้วย ในที่สุดความร่วมมือระหว่าง วิสาหกิจชุมชนธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า GC และ ENVICCO จึงทำให้ ศูนย์บริหารและจัดการขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะช่วยบริหารจัดการขยะของชุมชนได้ถึง 10 ตันต่อเดือน นับว่าศูนย์ฯ นี้เป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรจากต้นทางถึงปลายทางแห่งแรกในจังหวัดระยอง  

ศูนย์บริหารและจัดการขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า เป็นศูนย์การเรียนรู้และบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร โดยดึงการมีส่วนร่วมของคนที่อยู่ในชุมชนมาช่วยกัน และสามารถนำรายได้ส่วนหนึ่งกลับมาสนับสนุนชุมชน เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชน ในส่วนของชุมชน ก็ช่วยลดปัญหาขยะ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ขยะถูกจัดการอย่างถูกต้อง นำกลับมาเพิ่มคุณค่าได้ ซึ่งข้อดีมาก ๆ ของการเป็นศูนย์การเรียนรู้อีกข้อหนึ่ง คือ จะทำให้คนที่ได้มาเรียนรู้ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับชุมชนของตัวเอง ถือเป็นการขยายผลการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนที่แท้จริง ซึ่งตรงกับความต้องการของชุมชน

“พี่อยากให้ศูนย์นี้เป็นศูนย์ที่ให้ชาวบ้านเข้ามาเรียนรู้ เข้ามาเห็นว่า วันนี้ชุมชนกำลังทำอะไรอยู่ เมื่อเห็นแล้วก็อยากจะให้ทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมมือกับสิ่งที่ชุมชนได้สร้างขึ้นมา ชุมชนวัดชากลูกหญ้าก็ขอฝากถึงพี่น้องชาวระยอง ใครที่มีเคมีตรงกับเรา อยากเดินทางร่วมโครงการนี้ไปกับเรา ท่านสามารถเข้ามาร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ มาช่วยกันสานต่อโครงการนี้ให้ยั่งยืนและแข็งแรง เพื่อสิ่งแวดล้อมของชาวระยอง เราก็จะพยายามสร้างศูนย์ฯ แห่งนี้ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชน เพื่อน ๆ โดยรอบ นักเรียน เด็กรุ่นใหม่ๆ เพราะว่าอย่างน้อยสิ่งที่ทางผู้ประกอบการ GC , ENVICCO และหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาร่วมมือมาช่วยกัน ก็ทำให้เรามีพลังที่จะทำให้โครงการนี้ยั่งยืนตลอดไป” พี่เปิ้ลกล่าวทิ้งท้ายด้วยแววตามุ่งมั่น



จากที่ได้พูดคุยกับพี่เปิ้ล ประธานวิสาหกิจชุมชน ธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้าในวันนี้ ทำให้เรากลับออกมาจากชุมชนด้วยความอิ่มเอมใจ พลังความมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังของชาวบ้านชุมชนวัดชากลูกหญ้าที่มีทั้งความสำนึกรักบ้านเกิด ความต้องการที่จะเห็นสิ่งแวดล้อมที่ดีเกิดขึ้นในชุมชนของตัวเอง และยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อื่น จนทำให้วันนี้ ชุมชนของพวกเขากลายเป็นชุมชนเข้มแข็ง เป็นต้นแบบของศูนย์การเรียนรู้แห่งแรกที่ครบวงจร สามารถแบ่งปันองค์ความรู้ให้ชุมชนใดก็ตามที่สนใจ นำไปต่อยอดปรับใช้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เราหวังว่า ใครก็ตามที่ได้อ่านเรื่องราวในวันนี้คงจะได้รับแรงบันดาลใจไม่มากก็น้อย ในการเริ่มต้นทำสิ่งดี ๆ เพื่อถิ่นที่อยู่ของเรากันนะคะ

—————————————————–

*ศูนย์บริหารและจัดการขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า เป็นหนึ่งในโครงการของชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งมาจากแนวคิดของ GC ที่มีความเชื่อว่า การพัฒนาความยั่งยืน คือ การสร้างความสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการพัฒนาโดยเชื่อมโยงอย่างครบวงจร ตั้งแต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด นวัตกรรมและเทคโนโลยี ความชำนาญ ประสบการณ์ แนวทางการบริหารจัดการ และองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ นับเป็นการเสริมสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพัฒนาชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

—————————————————–

GC เขาฝากมาบอก : หากชุมชนใดในประเทศนี้ สนใจอยากเปลี่ยนแปลงชุมชนของตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม                ด้วยการบริหารจัดการขยะจาก YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม สามารถแจ้งความประสงค์ของท่านมาได้ที่ : youturn@pttgcgroup.com เราพร้อมที่จะเป็นพลังเสริมเล็กๆ ให้ทุกคนนะ : )

GC Group 17 โรงงานคว้ารางวัล CSR-DIW Continuous Awards ประจำปี 2563

GC Group 17 โรงงาน
คว้ารางวัล CSR-DIW Continuous Awards ประจำปี 2563
มุ่งมั่นรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

GC Group 17 โรงงาน ได้รับรางวัล โครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน ประจำปี 2563 ประเภท CSR-DIW Continuous Award ต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 ได้แก่ REF, ARO1, ARO2, OLE1, OLE2, OLE3, HDPE1, Jetty & BTF, Aromatic Tank Farm, GC Glycol (EO/EG), GC Glycol (EA), PPCL (Phenol), PPCL (Bis Phenol A), GCS, TEX, GCM-PTA และ GGC โดยมี นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธี และนายสุชาติ สุภาภักดี ผู้จัดการฝ่ายหน่วยการผลิตฟีนอล เป็นผู้แทนผู้บริหาร GC Group เข้าร่วมในพิธีรับรางวัล ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563



การเข้าร่วม โครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน CSR-DIW Continuous Award เป็นตัวชี้วัดถึงความตระหนักของผู้บริหารและพนักงาน GC Group ที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตั้งเป้าหมายให้โรงงานมีมาตรฐานในการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมุ่งพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน