dow

นักสิ่งแวดล้อมชวนถอดบทเรียนความสำเร็จฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน ชี้ ชุมชน คือพลังสำคัญ  

นักสิ่งแวดล้อมชวนถอดบทเรียนความสำเร็จฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน ชี้ ชุมชน คือพลังสำคัญ

ตัวแทนภาครัฐและเอกชนประสานเสียงบนเวที Blue Carbon Conference 2022 ชี้ “ชุมชน” คือพลังสำคัญของการปลูกป่าชายเลนอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแหล่งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และสร้างมั่นคงทางรายได้ให้คนในชุมชน

เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จัดเสวนาร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ภายใต้โครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance ในงาน Blue Carbon Conference 2022 “คาร์บอนทะเล: หนุนธุรกิจสู่ Net Zero เสริมระบบนิเวศและชุมชน” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จในการฟื้นฟูและบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทย

นายขยาย ทองหนูนุ้ย ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การปลูกป่าชายเลนที่จังหวัดระนองใน 2 โครงการสำคัญ คือ โครงการปลูกป่าชายเลนเชื่อมมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น เพิ่มศักยภาพชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลน และโครงการพัฒนาชุมชนชายฝั่งจังหวัดระนองให้เข้มแข็งรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยระบุว่า ปัจจุบัน จังหวัดระนองมีพื้นที่ป่าชายเลนสมบูรณ์ 171,737 ไร่ และกำลังเสนอให้ป่าชายเลนระนองเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ สำหรับโครงการแรก ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 6 ร่วมกับ OISCA (Thailand) และองค์กรภาคเอกชนและอาสาสมัครปลูกป่าชาวญี่ปุ่นได้จัดทำโครงการปลูกป่าชายเลน ด้วยการคัดเลือกพื้นที่เข้าโครงการ ซึ่งเป็นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมหลังสิ้นสุดสัมปทาน เหมืองแร่เก่า บ่อกุ้งเก่า และพื้นที่พิเศษหรือพื้นที่เสื่อมโทรมขั้นวิกฤต มีอาสาสมัครมาทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อปลูกป่าเชิงคุณภาพ สามารถฟื้นฟูป่าชายเลนกว่า 9,000 ไร่ โครงการนี้มีแคมเปญปลูกป่าชายเลนที่น่าสนใจคือ แคมเปญ “Homerun Mangrove หนึ่งโฮมรันปลูกพันต้นโกงกาง” โดยนับยอดโฮมรันที่นาย Nobuhiko Mutsunaka นักเบสบอลชื่อดังทำได้ใน 1 ปี ซึ่งตอนนั้นมีการปลูกป่าโกงกางกว่า 4,000 ต้น

การมีส่วนร่วมของชุมชนคือวิธีที่ได้ผลดีและยั่งยืนในการปลูกป่าชายเลน เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องเป็นสะพานเชื่อมกับชุมชน โดยปลูกป่าเชิงคุณภาพบนพื้นฐานวิชาการและข้อมูลที่เป็นจริงว่าพื้นที่ใดปลูกได้ พื้นที่ใดปลูกแล้วจะไม่รอด ยิ่งไปกว่านั้นต้องเปลี่ยนการปลูกป่าให้เป็นการสร้างงานและรายได้ให้คนในชุมชน

ส่วนโครงการพัฒนาชุมชนชายฝั่งจังหวัดระนองให้เข้มแข็งรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เน้นทำให้ชุมชนมีองค์ความรู้ สามารถปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด และมีอาชีพมีรายได้ที่มั่นคง โดยมีเป้าหมาย คือ ชุมชนบ้านเกาะคณฑี ชุมชนบ้านเกาะเหลา ชุมชนบ้านเกาะสินไห และชุมชนบ้านฉาง-ท่าต้นสน

“ปัจจุบัน มีทุนที่จะลงไปพัฒนาชุมชนมาก ควรเตรียมความพร้อมชุมชนอย่างเข้มข้น ทำให้เห็นว่าการรวมกลุ่มจะทำให้มีโอกาสมากขึ้น ต้องลดช่องว่างระหว่างภาคนโยบายกับการปฏิบัติให้ได้” นายขยายกล่าวสรุป

นายชัยรัตน์ เอื้อตระกูล นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำประแส จังหวัดระยอง กล่าวถึง ความสัมพันธ์ระหว่างระบบนิเวศชายฝั่งและความมั่นคงทางอาหาร ว่า หลังจากทุกภาคส่วนได้ช่วยกันปลูกป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่า ชายเลนเสื่อมโทรมที่เกิดจากการทำบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำให้ตอนนี้พื้นที่ปากน้ำกระแสมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ประมาณ 600 ไร่ โดยมีคนในชุมชนช่วยกันดูแลอย่างเข้มแข็ง เพราะได้รับประโยชน์จากป่าสมบูรณ์ ทั้งการเป็นแหล่งอาหาร มีสัตว์น้ำเยอะกว่าเดิม นำมาเป็นอาหารและขายสร้างรายได้ให้ครอบครัว นอกจากนี้ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งพักอาศัยของนกอพยพหายาก มีความหลากหลายทางชีวภาพ และดึงดูดให้คนมาท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติ ทำให้คนในชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

นายชัยรัตน์ยังกล่าวถึงปัจจัยสำคัญอีกอย่างของความสำเร็จในการอนุรักษ์ป่าชายเลน คือ การสนับสนุนจากภาคเอกชน ซึ่งชุมชนปากน้ำประแสเองได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัทเอกชนหลายแห่งมาโดยตลอด และที่สำคัญคือ “ความต่อเนื่อง” ตัวอย่างเช่น กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ที่ได้เข้ามาปลูกป่าและส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนปากน้ำประแสอย่างต่อเนื่องทุกปีเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว รวมทั้ง Dow ยังช่วยสร้างแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ และทำกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น พาสื่อมวลชนมารีวิว และจัดประกวดถ่ายภาพซึ่งทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ความต่อเนื่องจึงเป็นหนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จเพื่อสร้างให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนในการอนุรักษ์

นางสาวมณีวรรณ สันหลี กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิอันดามัน กล่าวถึง ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศและท้องทะเลอันดามัน ความท้าทายของระบบนิเวศและชุมชน กรณีศึกษาการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนมีส่วนร่วม จังหวัดตรัง ว่าที่ผ่านมาชุมชนชายฝั่งได้รับผลกระทบจากการที่มีปริมาณสัตว์น้ำลดลง เพราะการทำประมงที่ไม่เหมาะสม คนในชุมชนจึงรวมตัวกันจัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา มีการแบ่งประเภทป่าชายเลนเป็นประเภทต่างๆ แบ่งพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ใช้สอย และเพื่อใช้กันคลื่นลม

ในจังหวัดตรัง มีการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ 4 หมู่บ้าน เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ห้ามใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนและพะยูน ห้ามตัดไม้โกงกาง และมีการอนุรักษ์พื้นที่หญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังมีการประชุมเพื่อติดตามเฝ้าระวังปัญหาในพื้นที่ชายฝั่งด้วย มีการข้อเสนอต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การดำเนินการเหล่านี้ทำให้จำนวนพะยูนและพื้นที่หญ้าทะเลในจังหวัดตรังเพิ่มขึ้น รวมทั้งเกิดกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนบ้านน้ำราบ ช่วยสร้างงาน และกระจายรายได้ให้คนในชุมชน

ชุมชนชายฝั่งยังคงเผชิญกับภัยคุกคามหลายอย่าง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คลื่นลมแปรปรวนส่งผลต่อประมงชายฝั่ง ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาขยะทะเลบริเวณชายฝั่ง นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหาพื้นที่หญ้าทะเลในเกาะลิบงได้รับความเสียหายจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการทำประมงชายฝั่ง การท่องเที่ยว และการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน ขณะเดียวกัน กฎหมายและนโยบายบางอย่างก็ส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่น พรบ.สิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำกระทบต่อชาวบ้านรายได้น้อย พรบ.อุทยานแห่งชาติทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถทำประมงนอกพื้นที่ได้ นโยบายทวงคืนพื้นป่าได้ยึดพื้นที่คืนจากชาวประมงพื้นบ้าน เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่หญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ และต้องการให้ภาครัฐออกนโยบายที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากร เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ

ด้านนายรวี ถาวร นักวิจัยศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) กล่าวถึง การมีส่วนร่วมและผลประโยชน์ของชุมชนจากการฟื้นฟูป่าชายเลน กรณีศึกษาป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน จังหวัดตราด ว่า ชุมชนบ้านเปร็ดในมีป่า ชายเลน 10,557 ไร่ มีการฟื้นฟูมาตั้งแต่ปี 2530 คนในชุมชนทำสวนผลไม้ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามระบบธรรมชาติ และทำประมงจับหาสัตว์น้ำ ทั้งนี้ ช่วงแรกของการฟื้นฟูป่าชายเลนเป็นการฟื้นฟูตามธรรมชาติ และต่อมาชุมชนเข้าไปช่วยฟื้นฟูโดยได้รับการสนับสนุนจาก RECOFTC และภาคีเอกชน มีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์แบ่งพื้นที่ดูแลฟื้นฟูระบบนิเวศ บริหารจัดการเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำ เช่น ธนาคารปูดำ และบ้านปลา ปลูกป่าชายเลนเพิ่ม วางแผนการจัดการป่า และร่วมมือกับพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อดูแลปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ให้พื้นที่ป่าชายเลนมีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น มีปริมาณสัตว์น้ำ พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น อัตราการพังของชายฝั่งลดลง ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้คนในชุมชน ลดความยากจน และเมื่อคนในชุมชนตระหนักถึงประโยชน์ที่ได้รับก็กลายเป็น Forest Watch คอยดูแลป่าและคอยแจ้งเตือนเมื่อพบเห็นส่งปกติในพื้นที่ป่าเพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ในปี 2554-2556 โครงการ Mangroves for the Future ได้ช่วยขยายพื้นที่ฟื้นฟูสู่เครือข่ายอีก 6 ตำบล ผ่านการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ในอ่าวตราด การทำวิจัยเรื่องการฟื้นฟูป่าชายเลนจากนากุ้งร้างทำให้เกิดองค์ความรู้ในการฟื้นฟูป่าชายเลนที่ผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการจัดทำคู่มือการสำรวจ ประเมินผลและติดตามการฟื้นฟูป่าชายเลนโดยชุมชน เพื่อขยายผลองค์ความรู้สู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ ความสำเร็จด้านการฟื้นฟูป่าชายเลนทำให้ชุมชนบ้านเปร็ดในได้รับรางวัล Equator ของ UNDP เมื่อปี 2555

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของชุมชนนี้คือ การตั้งกองทุนป่าชุมชน…เพื่อความยั่งยืน โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อฟื้นฟูจัดการป่าอย่างต่อเนื่อง มีการใช้เงินทุนซื้อนากุ้งร้างเพื่อปลูกป่าชายเลนเพิ่ม ใช้เป็นเงินสวัสดิการของคนทำงาน รวมถึงซื้อน้ำมันและซ่อมเรือรวมถึงอุปกรณ์ดูแลจัดการป่า และพัฒนาบุคลากร

นายรวี เล่าถึง การฟื้นฟูนากุ้งขนาด 45 ไร่ ตั้งแต่ปี 2554 ว่า เป็นการฟื้นฟูป่าควบคู่การทำวิจัย ที่ผสมผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความรู้ของชาวบ้านที่ร่วมกันวิเคราะห์เลือกรูปแบบการปลูกฟื้นฟูพื้นที่ เช่น วิเคราะห์ชนิดดิน การจัดการระบบน้ำ วิธีการปลูกป่าโกงกางแบบใช้ฝัก และได้ร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ มีการเรียนรู้และติดตามผลการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้อมูลต้นไม้ สัตว์หน้าดิน สัตว์น้ำที่ใช้ประโยชน์จากแปลงฟื้นฟู ซึ่งผลการฟื้นฟูพบว่า ต้นไม้รอดตาย 80% มีสัตว์หน้าดินอย่างน้อย 10 ชนิด พบสัตว์น้ำอย่างน้อย 25 ชนิด โดย 5 ชนิดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน ขณะที่เดียวกัน คนในชุมชนได้เรียนรู้การฟื้นฟูป่าชายเลน มีการวิจัยชุมชน ซึ่งขยายผลไปยังชุมชนชายฝั่งอื่นได้

ผู้ที่สนใจสามารถรับฟังการสัมมนา 1 ชั่วโมงเต็มได้ที่ https://youtu.be/DuAOJvUfq-U

THE LIGHTER THAILAND

DowจับมือTPKพัฒนาฟิล์มบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกผสมพลาสติกรีไซเคิล ครั้งแรกในไทย

Dow จับมือ TPK พัฒนาฟิล์มบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ผสมพลาสติกรีไซเคิล ครั้งแรกในไทย

กรุงเทพฯ –11 พฤศจิกายน 2564 – กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย  (Dow) บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ไทยแพ็คเกจจิ้ง แมนูแฟ็กเจอเรอร์ จำกัด (TPK) พัฒนาบรรจุภัณฑ์ชนิด “ฟิล์มหดรัดสินค้า” (Collation Shrink film) จากเม็ดพลาสติกสูตรพิเศษ ผสมพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้ว (Post-Consumer Recycled Resin: PCR) ซึ่งมีคุณภาพเทียบเท่าฟิล์มที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกใหม่ เพื่อตอบโจทย์แบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในประเทศไทยแล้ววันนี้

  นวัตกรรมเม็ดพลาสติกผสม PCR ดังกล่าวชื่อว่า XUS 60921.01 สามารถนำมาผลิตเป็นฟิล์มพลาสติกชนิด “ฟิล์มหดรัดสินค้า” สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ยังคงคุณสมบัติเทียบเท่ากับฟิล์มที่ทำมาจากเม็ดพลาสติกใหม่ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 17% และประหยัดพลังงานได้กว่า 30% [1] เมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดพลาสติกใหม่ นับเป็นครั้งแรกของเอเชีย แปซิฟิก และประเทศไทยที่มีการผลิต “ฟิล์มหดรัดสินค้า” ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้

“เม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูตรพิเศษนี้ใช้ผลิตเป็นชั้นกลางของฟิล์มหดรัดสินค้าเพื่อใช้ในการห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำอัดลมกระป๋อง ขวดแชมพู ครีมนวดผม ครีมอาบน้ำ โลชั่น และอื่น ๆ ให้เป็นแพคใหญ่เพื่อให้ขนส่งได้สะดวก โดยเราได้พัฒนาและทดสอบร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของ Dow อย่างเข้มงวดด้วยเทคโนโลยีการผลิตเฉพาะของ TPK จึงมั่นใจได้ว่าเป็นฟิล์มที่มีคุณภาพดีและสวยงามไม่แพ้ฟิล์มที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังช่วยประหยัดพลังงาน ลดก๊าซเรือนกระจก และลดขยะให้กับโลกใบนี้ เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากแบรนด์สินค้าชั้นนำและผู้บริโภคที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน โดยแบรนด์ที่สนใจสามารถมาพูดคุยกับเราเพื่อปรับสูตรการผลิตฟิล์มให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ตามความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละสินค้า” นายถิรเดช จิระประกอบชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยแพ็คเกจจิ้ง แมนูแฟ็กเจอเรอร์ จำกัด กล่าว

            “กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เทคโนโลยีเม็ดพลาสติก “สูตรผสมพลาสติกใช้แล้ว” หรือ Post-Consumer Recycled Resin (PCR) แบบพิเศษของ Dow ซึ่งมีคุณภาพเทียบเท่าเม็ดพลาสติกใหม่ ได้รับการตอบรับจากองค์กรชั้นนำที่มีความมุ่งมั่นด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน อย่าง TPK

Dow หวังว่าฟิล์มหดรัดสินค้ารักษ์โลกนี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อใช้ในการแพคสินค้าส่งไปยังร้านค้าและผู้บริโภคทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตสินค้าบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน และหวังว่าจะได้เห็นฟิล์มบรรจุภัณฑ์จากความร่วมมือนี้ อยู่บนทุกสินค้าในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้” นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าว       

เม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูตรพิเศษนี้เป็นหนึ่งในโซลูชันสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติก ซึ่ง Dow ได้ตั้งเป้าการทำงานด้านความยั่งยืนในการทำให้ขยะพลาสติกจำนวน 1 ล้านตัน ถูกเก็บกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลผ่านการดำเนินงานของบริษัทและความมือร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ภายในปี 2573 รวมถึงผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Dow ที่นำไปผลิตเป็นแพคเกจจิ้งจะต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ภายในปี 2578 นอกจากนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ยังสอดคล้องกับแนวทางการทำธุรกิจของ TPK ที่มุ่งเน้นการนำเสนอนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์แบรนด์ยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยฟิล์มบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจากความร่วมมือของทั้งสองบริษัทพร้อมแล้วที่จะวางจำหน่ายตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

กันร้อนอย่างเซฟโลก “DOW” ผุดนวัตกรรมฉนวนพ่นเคลือบหลังคาเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกับบริษัทญี่ปุ่น “โตโยโก”

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ผู้นำด้านแมททีเรียล ไซแอนซ์ (Materials Science) ระดับโลก จับมือบริษัทฉนวนหลังคาสัญชาติญี่ปุ่น “โตโยโก” (Toyokoh) เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ ฉนวนกันความร้อนชนิดพ่นเคลือบบนหลังคาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “โสะเซย์” (Sosei) รองรับกับภูมิอากาศร้อนชื้นในไทยและภูมิภาคอาเซียน เอาใจกลุ่มโรงงาน โรงพยาบาล โรงเรียน ที่ต้องการสร้างหรือปรับปรุงเป็นอาคารประหยัดพลังงานโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ฉนวนพ่นหลังคารักษ์โลก “โสะเซย์” (Sosei) เป็นฉนวน 3 ชั้น จากการพ่นโฟมโพลียูริเทนนวัตกรรมใหม่ VORACOR™ และ ชั้นเคลือบกันน้ำ HYPERLAST™ ของ Dow ตามด้วยสารเคลือบหลังคาจากนิปปอนท์ เพนท์ (Nippon Paint) ลงไปบนกระเบื้องหลังคาโดยตรง จึงมีจุดเด่นที่ความเป็นฉนวนไร้รอยต่อซึ่งกันความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดพลังงานในการทำความเย็นในอาคารได้มาก อีกทั้งยังกันน้ำรั่วซึมจากหลังคา ช่วยลดเสียงรบกวน และช่วยให้หลังคาแข็งแรงทนทานยิ่งขึ้นโดยใช้ประสบการณ์จากหลังคาอาคารในประเทศญี่ปุ่นซึ่งต้องเผชิญกับพายุรุนแรงอยู่เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถพ่นทับได้จากภายนอกโดยไม่กระทบกิจกรรมภายในอาคาร จึงเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งกับการปรับปรุงหลังคาอาคารที่มีกิจกรรมอยู่เสมอ หรือ เข้าไปทำงานจากด้านในได้ยาก เช่น โรงงาน โรงพยาบาล คลังสินค้า โดยไม่ต้องหยุดกิจกรรมภายในอาคารแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่ก่อให้เกิดโลกร้อน เพราะไม่ทำลายบรรยากาศชั้นโอโซนเช่นเดียวกับการขึ้นรูปโฟมด้วยวิธีอื่น

“Dow ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่งและมีเป้าหมายด้านความยั่งยืนในการลดภาวะโลกร้อน จึงมุ่งมั่นคิดค้นนวัตกรรมที่จะเข้ามาตอบโจทย์การก่อสร้างอาคารสีเขียวเพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และป้องกันความร้อนจากแสงแดด ด้วยวัสดุที่ทนทานเหมาะกับสภาพภูมิอากาศของไทยในขณะที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซที่ทำลายชั้นโอโซนในระหว่างการก่อสร้าง อีกทั้งยังประหยัดน้ำมันในการขนส่งและติดตั้งได้รวดเร็วโดยไร้รอยต่อเพราะเป็นฉนวนแบบพ่นสเปรย์ ช่วยลดทั้งความร้อนในอาคาร และลดโลกร้อนได้ในเวลาเดียวกัน” นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหารกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าว

ในปัจจุบันการขึ้นรูปโฟมโพลียูริเทนโดยทั่วไปในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrochlorofluorocarbons – HCFC) หรือ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbon -HFC) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีกว่าก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจากการทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศโลก  นวัตกรรมฉนวนพ่นหลังคารักษ์โลก “โสะเซย์” (Sosei) แตกต่างด้วยการใช้สาร “ไฮโดรฟลูออโร-โอเลฟิน” (Hydrofluoro-Olefin -HFO) ซึ่งจะทำให้เกิดโครงสร้างโฟมด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  มีค่าระดับการทำลายโอโซน (Ozone Depleting Potential) เป็นศูนย์ และ ค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential) ต่ำกว่า 1 ซึ่งน้อยกว่าการใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน  (HCFC) หรือ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) โดยทั่วไปถึง 99%

 “ฉนวนพ่นหลังคารักษ์โลก “โสะเซย์” (Sosei) ซึ่งใช้เทคโนโลยีอันล้ำสมัยของ Dow นอกจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีคุณสมบัติพิเศษในการป้องกันความร้อนได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อเปรียบเทียบกันอุณหภูมิใต้หลังคาที่ใช้ฉนวนพ่นนี้โดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าหลังคาทั่วไปประมาณ 10 องศา โดยเป็นวัสดุที่ออกแบบมาให้รองรับกับสภาพภูมิอากาศที่มีความร้อนชื้น มีความแข็งแรงคงทน ยืดหยุ่นสูง สามารถรับแรงกระแทก และป้องกันการรั่วซึมของน้ำ จึงช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อโครงสร้างหลังคาทั้งพายุ และแผ่นดินไหว รับประกันคุณสมบัติกันน้ำได้นานถึง 10 ปี โดยโตโยโกเป็นพาร์ทเนอร์รายแรกของ Dow ที่ได้รับสิทธิ์ในการใช้นวัตกรรมนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเราพร้อมแล้วที่จะให้บริการในประเทศไทย” นาย คะซึอะกิ โตโยซะวะ บริษัทโตโยโกกล่าว

The Lighter Thailand…//