ชุมชนเข้มแข็ง

GC ร่วมกับ ประชารัฐรักสามัคคีอุดหนุนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดระยอง

GC ร่วมกับ ประชารัฐรักสามัคคีระยอง อุดหนุนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดระยอง



“ผลไม้รสล้ำ” คำขึ้นต้นของคำขวัญประจำจังหวัดระยอง แสดงให้เห็นว่าจังหวัดระยองสามารถปลูกผลไม้ได้หลากหลายชนิด มีรสชาติดีถูกใจนักท่องเที่ยว ต้องซื้อติดไม้ติดมือเป็นของฝากทุกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ผลไม้ออกชุกเป็นพิเศษ เช่น มะม่วง ทุเรียน มังคุด รวมถึง สับปะรดทองระยอง ผลไม้ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติที่อร่อย เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งจะมีผลผลิตออกมาพร้อมกัน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดระยอง ประสบปัญหาราคาตกต่ำและผลผลิตล้นตลาด



เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดระยอง GC ร่วมกับ ประชารัฐรักสามัคคีระยอง จึงได้ จัดโครงการ “Pineapple Aloha” เพื่อเป็นการอุดหนุนสับปะรดจากเกษตรกรในระยอง นำไปมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลระยอง ซึ่งเป็นผู้เสียสละทุ่มเทแรงกายแรงใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อสู้กับโควิด 19 เพื่อความปลอดภัยของทุกคนอย่างเต็มที่ตลอดมา โดยได้รับเกียรติจาก นางธัมมิกา เอี่ยมแสง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดระยอง เป็นประธานในการปล่อยขบวนรถบรรทุกสับปะรด “Pineapple Aloha” ปริมาณบรรทุกคันละ 2,000 กิโลกรัม พร้อมด้วยนางสาวเชาวนี พันธุ์พฤกษ์ ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานบริหารกิจการเพื่อสังคม พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และ ประธานกรรมการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยอง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เข้าร่วมงาน ณ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดระยอง



สับปะรดทองระยอง (Rayong Golden Pineapple) หมายถึง สับปะรดสายพันธุ์ควีน (Queen) กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศรับรองให้สับปะรดทองระยอง เป็นผลผลิตที่ผ่านการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จีไอ (GI : Geographical Indication) ลักษณะเฉพาะ ขอบใบที่ต้นและจุกมีหนามสั้นแหลมคม สีชมพูอมแดง รูปผลทรงกระบอก ตาผลใหญ่ ร่องตาตื้น เปลือกบาง เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีทองทั้งผล เนื้อสีเหลืองเข้มสม่ำเสมอตลอดผล เนื้อแน่น แห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติเปรี้ยวหวาน มีกลิ่นหอม รับประทานแล้วไม่กัดลิ้น ปลูกในเขตพื้นที่ของจังหวัดระยอง
สนใจสั่งซื้อเพื่ออุดหนุนเกษตรกร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยงานบริหารกิจการเพื่อสังคม โทร. 087-500-4726,065-395-5449

จิรัฏฐ์นนท์ ฐิตะสิริ ระยอง

บีแอลซีพี พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร จ. ระยอง จากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง

 

บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการคืนสุขภาพที่ดีสู่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงน้อมนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักการออกแบบการใช้พื้นที่ทางการเกษตรให้คุ้มค่า เปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรผสมผสาน เปลี่ยนการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง มาเป็นปุ๋ยอินทรีย์และสารสกัดจากพืชท้องถิ่น จนเกิดเป็น “โครงการเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกรรม

 

BLCP เดินหน้าสนับสนุนเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี2558 จนถึงปัจจุบัน โดยสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งประกอบด้วย ชุมชนโขดหินมิตรภาพ ชุมชนโขดหิน 2  และชุมชนเขาไผ่ ให้ปรับการทำเกษตรแบบเดิมที่มีการใช้สารเคมีมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้สภาพดินเสื่อมโทรม โรคพืชและโรคแมลงรบกวนทำลายผลิตผลทางการเกษตร  รวมทั้งส่งผลให้สุขภาพร่างกายเกษตรกรไม่แข็งแรง โดยปรับใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง ในพื้นที่ทั้งสิ้น 57 ไร่ ที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกษ.9000)  โดยBLCPได้จัดหาวิทยากรมาอบรมให้ความรู้ในหลายเรื่อง เช่น สอนการทำวัสดุบำรุงดิน การสังเกตโรคพืช การทำน้ำหมักจุลินทรีย์เพื่อบำรุงใบ ดอก ผล ไล่แมลง และรักษาโรคพืช การต่อเชื้อจุลินทรีย์จากราใบไม้สีขาว และการเก็บตัวอย่างดินเพื่อประเมินความอุดม

สมบูรณ์ของดิน

 

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาปรับใช้ในการทำการเกษตรและช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง คืนความมั่นใจและดึงความรู้ตามแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สูญหายไป ให้กลับคืนมาสู่การรับรู้ของเกษตรกร ซึ่งเป็นการสร้างความภูมิใจในท้องถิ่นของตน นอกเหนือไปจากการประสานความเข้าใจระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ทำให้คนต่างรุ่นมีปฏิสัมพันธ์และเปิดใจเรียนรู้จากกันและกันได้มากขึ้น โครงการนี้จึงไม่เพียงแค่จะเป็นการคืนสุขภาวะให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ แต่ยังเป็นการสร้างความร่วมมือและความเข้มแข็งให้กับชุมชน  โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ สู่แปลงเกษตรในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด และจังหวัดระยอง ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าศึกษาดูงาน ณ ที่ทำการศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยติดต่อไปที่ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์โขดหิน-เขาไผ่ คุณสุดา จิตรดล โทร. 095 252 4219

จิรัฏฐ์นนท์ ฐิตะสิริ ระยอง

ชาวระยอง เฮ อบจ.ระยอง ทำแก้มลิง 4 โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ช่วงฤดูฝนเรียบร้อยแล้ว คาดจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน 

เมื่อวันที่ 13 พ.ค.นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตตัวเมืองระยอง หลัง อบจ.ระยอง ได้มีการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสม สำรวจ ออกแบบการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ดังกล่าว และมีการก่อสร้างโครงการต่างๆ จนแล้วเสร็จ และมีความพร้อมรับมือน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนนี้



นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง กล่าวว่า อบจ.ระยอง

ได้มีแผนงานตามผลการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสม สำรวจ ออกแบบการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตเทศบาลนครระยอง ต.เชิงเนิน ต.ทับมา และต.เนินพระ อ.เมืองระยอง โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 4 โครงการ ซึ่งปัจจุบันแผนงานต่างๆ ได้มีการบูรณาการร่วมกันดำาเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วและมีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตเมืองระยอง ประกอบด้วย 1)การก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองหนองโพรง โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2)การก่อสร้างสถานีสูบน้ำปลายคลองทับมาพร้อมระบบระบายน้ำสู่แม่น้ำระยอง โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองและโครงการชลประทานระยอง 3)การปรับปรุงระบบระบายน้ำคลองทับมาก่อสร้างกำแพงกั้นตลิ่ง โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง และโครงการชลประทานระยอง 4)

การก่อสร้างสระเก็บน้ำดิบทับมา โดยบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) โดยแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามผลการศึกษาทั้ง 4 แผนงาน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตเมืองระยอง ซึ่งมีความพร้อมในการรับมือน้ำจากลุ่มน้ำคลองทับมา โดยสามารถกักเก็บน้ำส่วนเกินตอนบนไว้ในสระเก็บน้ำดิบทับมา ขณะน้ำหลากไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งก่อนไหลเข้าสู่ตัวเมือง ประกอบกับการเพิ่มประสิทธิภาพการเร่งระบายน้ำจากคลองทับมาสู่แม่น้ำระยอง เพื่อไม่ให้ไหลเข้าท่วมตัวเมืองระยอง.

จิรัฎฐ์นนท์ ฐิตะสิริ ระยอง

ปตท. ส่งมอบเครื่องช่วยหายใจสู้วิกฤต COVID-19 ในโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน”

 

ปตท. ส่งมอบเครื่องช่วยหายใจสู้วิกฤต COVID-19 ในโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน”



วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายวิสุทธิ์ หนูงาม ผู้จัดการฝ่ายบริหารจัดการโรงแยกก๊าซและกิจการเพื่อชุมชน ผู้แทนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จังหวัดระยอง บริจาคเครื่องให้ออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูง และเครื่องช่วยหายใจ รวมทั้งงบประมาณการจัดซื้อออกซิเจนเหลวให้กับโรงพยาบาลระยองและโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ระยอง รวมมูลค่า 3 ล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยตามโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” ที่ ปตท. จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยต่อลมหายใจของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ



โดย ปตท. ขอเป็นพลังร่วมในยามที่ทุกฝ่ายต้องเผชิญกับ COVID-19 และพร้อมสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้คนไทยและประเทศก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันโดยเร็วที่สุด เพราะเชื่อว่า “เราคนไทยทุกคนล้วนมีลมหายใจเดียวกัน”

จิรัฏฐ์นนท์ จิรัฏฐ์นนท์ ฐิตะสิริ / ระยอง

“ชุมชนเข้มแข็ง” ได้ เมื่อเราผสานพลัง

ภูมิปัญญาชาวบ้านและอัตลักษณ์ท้องถิ่น คือ สิ่งพิเศษที่มีเฉพาะตัวตน หรือ เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งเมื่อได้เรียนรู้แล้วก็จะพบว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ยิ่งหากนำความเฉพาะในท้องถิ่นนั้นๆ มาพัฒนาต่อยอดผสานกับนวัตกรรม วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ รวมถึงระบบการบริหารจัดการต่าง ๆ ก็ยิ่งสร้างพลังให้เกิดความเข้มแข็งได้อย่างดีเยี่ยม และนั่นคือสิ่งที่ GC หรือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มองเห็น และเกิดเป็นแนวคิด “ชุมชนเข้มแข็ง” ที่ต้องการเดินหน้าทำให้ชุมชนนั้นสามารถพึ่งพาตัวเองได้ สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน และขยายผลให้ชุมชนในภาพรวมได้ประโยชน์สูงที่สุดอย่างยั่งยืน โดยเราสามารถเชื่อมโยงมิติการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ดังนี้

มิติเศรษฐกิจ ด้านการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนนั้นสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างของการสนับสนุนการพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรอินทรีย์กลุ่มหอมมะหาด ผู้ปลูกพืชสมุนไพรพื้นถิ่นระยอง ให้นำผลผลิตมาพัฒนาต่อยอดด้วยการแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรโดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มลุฟฟาลา ชุมชนหนองแฟบ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติ เพื่อสุขอนามัยและสุขภาพผิวที่ดี LUFFALA สู่มาตรฐานระดับสากล ผ่าน “โครงการ Rayong Organic Living” และการพัฒนาปรับปรุง “ศูนย์การเรียนรู้อาหารถิ่นระยอง ร้านใบชะมวง ภายใต้โครงการเชฟชุมชนชวนกินถิ่นระยอง (ฮิ)” เพื่อให้เป็นศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพและการทำธุรกิจร้านอาหารให้กับนักศึกษาแผนกอาหารและโภชนาการ คณะคหกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคระยอง เพื่อให้สามารถไปเป็นผู้ประกอบการเองได้ เป็นการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตและกระจายรายได้สู่ชุมชนผู้ผลิตวัตถุดิบของดีในจังหวัดระยอง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร หรือชาวประมง ทั้งยังเป็นการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เพื่อรองรับนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวและการแปรรูปอาหาร   

มิติสังคม ด้านการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ฉายภาพไปที่ชุมชนวัดชากลูกหญ้า ซึ่งมีการบริหารจัดการขยะที่ดีภายในชุมชน และ GC เห็นโอกาสที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการขยะได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย มีการนำระบบ YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นระบบจัดการพลาสติกใช้แล้วแบบครบวงจร ตั้งแต่การรวบรวม การคัดแยกขยะ การขนส่งขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบกระบวนการรีไซเคิล และกระบวนการแปรรูปจนได้กลับมาเป็นสินค้าอัพไซคลิง เข้ามาช่วยพัฒนาการบริหารจัดการขยะของชุมชน GC ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งเรื่องการคัดแยก การบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี จนทำให้วันนี้มีการตั้งเป็น “ศูนย์บริหารและจัดการขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า” ซึ่งกลายเป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรแห่งแรกของจังหวัดระยองที่ชาวชุมชนวัดชากลูกหญ้าภูมิใจ

และสุดท้าย มิติสิ่งแวดล้อม ด้านการดูแลรักษาระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการเข้าไปช่วยร่วมพัฒนาและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยนวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญ GC และเทศบาลเมืองมาบตาพุด จึงได้ร่วมมือกับศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGeo) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำระบบเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนและขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ทำให้การปลูกมะม่วงพื้นทรายของเกษตรกรที่ทำมากว่า 50 ปี สามารถคงคุณภาพความอร่อยของผลผลิตตลอดฤดูกาล การันตีด้วยรางวัลรองชนะเลิศ ประเภทมะม่วงผลดิบ “เขียวเสวย” จากการประกวดผลไม้งานเกษตรแห่งชาติ (เกษตรแฟร์) ประจำปี 2563 รวมถึงการพัฒนาช่องทางการขาย Online โดยสร้าง Line Official: “Map Ta Phut Mango” พร้อมเสริมทักษะการขายให้กับเกษตรกร เพื่อให้สวนมะม่วงสามารถจำหน่ายผลผลิตให้ลูกค้าแบบ Pre-Order ได้ รวมถึงช่วยวางระบบบริหารการขนส่ง เพื่อให้สวนสามารถขายผลผลิตได้ทั่วประเทศ (แอบกระซิบว่ามะม่วงอร่อย ๆ มีอีกไม่มากแล้ว รีบจองกันก่อนจะหมดฤดูกาลในเร็วๆ นี้) 

GC และพันธมิตรภูมิใจทีได้เป็นพลังเสริมให้ทุกชุมชนพัฒนาไปสู่การเป็น “ชุมชนเข้มแข็ง” ที่สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนและสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

จิรัฏฐ์นนท์ ฐิตะสิริ ระยอง

———————————————–

#ชุมชนเข้มแข็ง

#เคมีเดียวกันสร้างสรรค์ทุกความสุข

#GCCircularLiving

#ChemistryforBetterLiving