การหมั้นนั้น ถ้าจะให้ความในทางกฎหมายก็หมายความรวมถึง “การที่ชายหญิงทำสัญญาว่าจะทำการสมรสกันและอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา” (an agreement to get married and live together as husband and wife)

ศาลฎีกาได้ให้ความหมายการหมั้นไว้ว่า “การหมั้นเป็นสัญญาซึ่งฝ่ายชายทำกับฝ่ายหญิงโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อชายกับหญิงทำการสมรสกัน” สัญญาหมั้นจึงเป็นเพียงสัญญาจองกันไว้ ยังไม่ถึงขั้นการสมรสกันเด็ดขาด
การหมั้นจะมีผลทางกฎหมายของประเทศไทยเมื่อเป็นการหมั้นโดยพิจารณาจากเพศที่แท้จริง กฎหมายไทยไม่ยอมรับการหมั้นของคนที่มีเพศเดียวกัน เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้น การหมั้นเพศเดียวกันถือเป็นการหมั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะมีการผ่าตัดแปลงเพศแล้วก็ตาม
การหมั้นจะต้องกระทำโดยความยินยอมพร้อมใจของชายและหญิงที่เป็นคู่หมั้นด้วย
พิธีหมั้น กฎหมายไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบที่ชัดเจน ซึ่งการจัดพิธีไม่ว่าเล็กหรือใหญ่โต ก็ไม่ได้ส่งผลแตกต่างในทางกฎหมาย สิ่งสำคัญที่สุดในการหมั้นคือ ขอเพียงให้มีของหมั้นที่ฝ่ายชายมอบให้แก่ฝ่ายหญิงก็เพียงพอ และการหมั้นจะต้องทำเป็นกิจลักษณะและเปิดเผยให้เป็นที่รับรู้ของบุคคลทั่วไปถึงจะมีผลเป็นการหมั้น การสู่ขอกันเฉย ๆ ไม่ถือเป็นการหมั้นตามกฎหมาย
ความสมบูรณ์ของการหมั้น กฎหมายได้กำหนดแบบความสมบูรณ์ไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1437 “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง”
สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 412 ถึงมาตรา 418 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(ซึ่งเรื่องสินสอดเราจะกล่าวในตอนต่อไป)
การหมั้นต้องมีของหมั้น หากฝ่ายชายไม่มีของหมั้นมามอบให้หญิงสาว การหมั้นย่อมไม่สมบูรณ์ ถือว่าไม่มีสัญญาหมั้นเกิดขึ้น สัญญาหมั้นจึงอาจจะกระทำด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของอายุด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1435 การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว
การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง เป็นโมฆะ
หากคู่หมั้นยังเป็นผู้เยาว์อยู่จะต้องได้รับความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครองด้วย ตามปพพ.
มาตรา 1436 ผู้เยาว์ จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคล ดังต่อไปนี้
(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดาและมารดา
(2) บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่อยู่ในสภาพ หรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้
(3) ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
(4) ผู้ปกครอง ในกรณีทีไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม (1) (2) และ (3) หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง
การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าว เป็นโมฆียะ
และสัญญาหมั้นยังต้องอยู่ในบังคับตามหลักทั่วไปในเรื่องการแสดงเจตนาในการทำนิติกรรม เช่น การทำสัญญาหมั้นเพราะถูกข่มขู่ จะตกเป็น โมฆียะ ตาม ปพพ.มาตรา 164 หรือสัญญาหมั้นที่มีวัตถุประสงค์อันขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จะตกเป็น โมฆะ ตาม ปพพ. มาตรา 150 ด้วย และสัญญาหมั้นจะใช้บังคับได้แต่กรณีเฉพาะชายไปทำการหมั้นหญิงเท่านั้น
ฎ.525/2509 การที่ไม่มีประเพณีท้องถิ่นว่าจะต้องมีของหมั้นมิใช่เหตุอันพึงยกขึ้นลบล้างบทกฎหมาย
คู่สัญญาหมั้น กฎหมายใช้คำว่า “ฝ่ายชาย” “ฝ่ายหญิง” จะเห็นได้ว่าบิดามารดาหรือผู้ปกครองของชายหรือหญิง หรือบุคคลอื่นซึ่งมีความสัมพันธ์กับตัวชายหรือหญิงคู่หมั้น ในอันที่จะทำสัญญาหมั้นหรือจัดการสมรสก็อาจจะเป็นผู้ทำสัญญาหมั้นหรือเข้ามาเป็นคู่สัญญาหมั้นได้
บุคคลที่จะเป็นคู่สัญญาหมั้นมี 3 จำพวกคือ ชายหญิงที่เป็นคู่หมั้น บิดามารดาของชายหญิงคู่หมั้นซึ่งเป็นคู่สัญญาหมั้น และ บุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาของชายหญิงคู่หมั้น…//