การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นการที่รัฐบาลกระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเองภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและสนองตอบต่อความต้องการของชุมชนได้สะดวก รวดเร็ว และตรงกับความประสงค์ของชุมชนนั้น โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกในการทำหน้าที่แทนรัฐบาล การใช้อำนาจดังกล่าวจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ รวมทั้งก่อให้เกิดผลในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและท้องถิ่น
ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ จะเป็นผู้กำหนดผู้แทนหรือตัวบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งผู้แทนจะต้องเป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครรับเลือกตั้งและได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่นนั้น
รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น
การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยมี 2 รูปแบบ แต่ละรูปแบบแยกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
รูปแบบทั่วไป : องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล
รูปแบบพิเศษ : กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งนายก อบจ. หรือ ส.อบจ. ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
- มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง
- และ คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง
- บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
- บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง (Passport) ฯลฯ
บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
บุคคลลักษณะดังต่อไปนี้ ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
- เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
- อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
- ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
- วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือ ภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง สามารถแจ้งด้วยตัวเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
- เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
- มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
- ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
- มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต.กำหนด
**กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้**
หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้
- สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือ ส.ถ.หรือ ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
- สมัครรับเลือกเป็นกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน
- เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ. หรือ ผ.ถ.
- ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
- ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
- ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธนานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
*** การถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี ***
ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง
- ตรวจสอบรายชื่อ
- ยื่นหลักฐานแสดงตน
- รับบัตรเลือกตั้ง
- ทำเครื่องหมายกากบาท
- หย่อนบัตรเลือกตั้งด้วยตัวเอง
*** เวลาลงคะแนนเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 17.00 น. ***
คำสำคัญและคำย่อ
องค์การบริหารส่วนตำบล
อบต. องค์การบริหารส่วนตำบล
ส.อบต. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
นายก อบต. นายกองค์บริหารส่วนตำบล
เทศบาล
ทต. เทศบาลตำบล
ทม. เทศบาลเมือง
ทน. เทศบาลนคร
ส.ทต. สมาชิกสภาเทศบาลตำบล
ส.ทม. สมาชิกสภาเทศบาลเมือง
ส.ทน. สมาชิกสภาเทศบาลนคร
นายก ทต. นายกเทศมนตรีตำบล
นายก ทม. นายกเทศมนตรีเมือง
นายก ทน. นายกเทศมนตรีนคร
องค์การบริหารส่วนจังหวัด
อบจ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด
ส.อบจ. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
นายก อบจ. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
เมืองพัทยา
สม. สมาชิกสภาเมืองพัทยา
นายกเมืองพัทยา นายกเมืองพัทยา
กรุงเทพมหานคร
สก. สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
ผู้ว่า กทม. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ขอบคุณที่มา : คู่มือประชาชน เลือกตั้ง อบจ.
By. https://mwinthailand.com